ธ.ก.ส. พร้อมนำเงินจากการออก Green Bond เป็นทุนสนับสนุนสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยสร้างพื้นที่ป่าในประเทศเพิ่มขึ้น 5 แสนไร่ และหนุนการสร้างงานสร้างรายได้ ในระบบเศรษฐกิจชุมชนฐานรากกว่าแสนล้าน
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จัดกิจกรรมปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 68 พรรษา พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหลวงรัชกาลที่ 10 ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้ชุมชนตระหนักถึงคุณค่าของต้นไม้ การมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่ป่าและดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม โดยมีนายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. พร้อมด้วยเกษตรกรและประชาชนในพื้นที่เข้าร่วมงาน ณ โรงเรียนบ้านบนนา ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
![]() |
![]() |
นายสมเกียรติ กิมาวหา รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า ธ.ก.ส. พร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในชนบท ควบคู่กับการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินโครงการธนาคารต้นไม้สนับสนุนให้เกษตรกรและชุมชนปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง โดยมีชุมชนเข้าร่วมโครงการแล้ว 6,844 ชุมชน มีผู้ร่วมปลูกต้นไม้กว่า 130,000 ราย มีต้นไม้ปลูกเพิ่มในประเทศกว่า 1.2 ล้านต้น และเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในเชิงเศรษฐกิจให้กับเกษตรกรผู้ปลูกต้นไม้ มีการแปลงมูลค่าต้นไม้เป็นทรัพย์สิน เพื่อนำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก โดยคำนวณปริมาณการกักเก็บคาร์บอนของต้นไม้ตีเป็นมูลค่า เพื่อช่วยลดปัญหาโลกร้อนและสร้างรายได้ให้กับชุมชน
![]() |
![]() |
เพื่อสร้างความต่อเนื่องในการสนับสนุนโครงการ ในปี 2563 ธ.ก.ส. ได้ระดมทุนโดยการออกพันธบัตรด้านสิ่งแวดล้อม Green Bond จำนวน 6,000 ล้านบาท จากเป้าหมาย 20,000 ล้านบาท (ในปีบัญชี 2563-2567) เพื่อนำมาใช้เป็นทุนสนับสนุนการดำเนินงานโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับคนในชนบท เช่น สินเชื่อปลูกป่าสร้างรายได้ สินเชื่อรักษ์ป่าไม้ไทยยั่งยืน โดยมุ่งสนับสนุนให้ประชาชนหันมาปลูกป่าเพื่อการออม การสร้างมูลค่าเพิ่มจากป่าไม้ในเชิงเศรษฐกิจ การสนับสนุนชุมชนท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์ สินเชื่อเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้ในช่วงหน้าแล้ง สินเชื่อ New Gen Hug บ้านเกิด เพื่อกระตุ้นและสนับสนุนให้ทายาทเกษตรกรและคนรุ่นใหม่ ที่มีทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี ด้านการตลาดและการจัดการ หันมาร่วมพัฒนาภาคเกษตรกรรม และสินเชื่อ SMAEs ที่มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาและยกระดับสินค้าการเกษตร เป็นต้น โดยการดำเนินโครงการจะบูรณาการร่วมกับส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ในการดูแลด้านสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น การป้องกันและควบคุมมลพิษ การจัดการ น้ำเสีย การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพและพลังงานหมุนเวียน เป็นต้น
![]() |
![]() |
ทั้งนี้เป้าหมายและประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ คือ ทำให้ประเทศไทยมีพื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น 500,000 ไร่ มีการปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้นกว่า 100 ล้านต้น โดยสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากมูลค่ารวมของต้นไม้ 400,000 ล้านบาท มูลค่าจากการเก็บของป่าขาย 1,130 ล้านบาทต่อปี สามารถกักเก็บคาร์บอนได้ 950,000 ล้านตันต่อปี มูลค่าคาร์บอนเครดิต 95 ล้านบาทต่อปี มูลค่าระบบนิเวศบริการ 89,737 บาทต่อไร่ต่อปี โดยมีเกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่น้อยกว่า 38,000 ครัวเรือน อีกทั้งเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นกว่า 155,000 ราย
![]() |
![]() |