Responsive image

Friday, 26 Apr 2024

หน้าแรก > INSURANCE / ประกันภัย - ประกันชีวิต


คปภ. ออกคำสั่งแล้ว..! กรณีการจ่ายเคลมประกันโควิด HI - CI - Hotel Isolation ให้บริษัทประกันภัยอนุโลมจ่าย ตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่ง เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกันภัยโควิด

Sun 20/03/2565


  • ระบุให้บริษัทประกันภัยอนุโลมจ่าย “ค่ารักษาพยาบาล-ค่าชดเชยรายวัน/รายได้” ตามเงื่อนไขที่กำหนดในคำสั่ง แม้เงื่อนไขในกรมธรรม์ไม่มีกรณี HI - CI - Hotel Isolation เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิด

ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า ตามที่สำนักงาน คปภ. ได้จัดการประชุมหารือร่วมกัน 4 ฝ่าย คือ สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมโรงพยาบาลเอกชน เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2565 เพื่อหาแนวทางลดข้อพิพาทและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิดที่เข้ารับการรักษาตัวแบบ Home Isolation (HI) แบบ Community Isolation (CI) หรือแบบ Hotel Isolation แต่ไม่สามารถเคลมค่ารักษาพยาบาลและ/หรือค่าชดเชยรายวันได้ เนื่องจากเงื่อนไขกรมธรรม์ที่ตกลงกันในขณะทำสัญญาในการเคลมค่ารักษาพยาบาลและ/หรือค่าชดเชยรายวัน จะต้องเป็นกรณีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาพยาบาลในสถานพยาบาลเท่านั้น ไม่ได้รวมถึงกรณีที่ป่วยและพักรักษาตัวแบบ HI , CI หรือ Hotel Isolation และไม่มีการคิดเบี้ยประกันภัยสำหรับความคุ้มครองในลักษณะนี้ไว้ ซึ่งรูปแบบการรักษาตัวแบบ HI , CI  หรือ Hotel Isolation เกิดขึ้นภายหลังจากที่มีการกำหนดเงื่อนไขกรมธรรม์แล้ว โดยกระทรวงสาธารณสุขมีความเห็นให้ขยายคำจำกัดความของสถานพยาบาลให้คลุมไปถึงการรักษาใน HI , CI หรือ Hotel Isolation ด้วยเหตุผลเฉพาะ เพื่อการบริหารจัดการในเชิงสาธารณสุข แต่การขยายคำจำกัดความดังกล่าว ไม่ส่งผลทางกฎหมายให้เป็นการขยายความคุ้มครองที่บริษัทประกันภัยได้ออกไปตามกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่เดิมและที่คู่สัญญาตกลงกันแต่แรก

อย่างไรก็ตาม เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ผู้เอาประกันภัย สำนักงาน คปภ.ได้หารือกับภาคธุรกิจประกันภัยและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งตระหนักถึงสภาพปัญหาดังกล่าว จึงตกลงให้อนุโลมจ่ายในบางกรณีที่จำเป็นสำหรับพักรักษาตัวแบบ HI , CI แม้ว่าจะอยู่นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในกรมธรรม์และไม่ได้คำนวณค่าเบี้ยประกันเพิ่มเติมก็ตาม โดยบริษัทประกันภัยยอมจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันให้แก่ผู้เอาประกันภัยที่รักษาตัวแบบ HI หรือ CI  ตามเงื่อนไขที่ได้ประชุมตกลงร่วมกัน 4 ฝ่าย ตามที่มีการเผยแพร่ข่าวผลการประชุมให้สาธารณชนได้รับทราบไปแล้วก่อนหน้านี้

ดังนั้นเพื่อให้แนวทางปฏิบัติดังกล่าวเป็นไปในทิศทางเดียวกันและมีผลบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม สำนักงาน คปภ. จึงได้ออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 5/2565 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ตามกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย แบบ Home Isolation แบบ Community Isolation หรือแบบ Hotel Isolation สำหรับบริษัทประกันชีวิต และคำสั่งนายทะเบียนที่ 6/2565 เรื่อง การจ่ายค่ารักษาพยาบาลและค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ตามกรมธรรม์ประกันภัย สำหรับผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) และได้เข้ารับการดูแลรักษาพยาบาล ในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย แบบ Home Isolation แบบ Community Isolation หรือแบบ Hotel Isolation สำหรับบริษัทประกันวินาศภัย

          ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้มีหนังสือแจ้งบริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย สมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย ให้ถือปฏิบัติไปในทิศทางเดียวกันแล้ว เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2565

     คำสั่งนายทะเบียนที่ 5/2565 และคำสั่งนายทะเบียนที่ 6/2565 มีเนื้อหาสาระสำคัญดังนี้

  1.  ให้มีผลใช้บังคับกับสิทธิเรียกร้องตามกรมธรรม์ประกันภัยที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจาก
    นายทะเบียน ซึ่งบริษัทออกให้แก่ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองและกรมธรรม์ประกันภัยยังมีผลใช้บังคับสำหรับการใช้สิทธิเรียกร้อง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 จนถึงวันที่ 16 พฤษภาคม 2565
  2.  ในคำสั่งนี้ “สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย” หมายความว่า สถานที่ที่ตั้งขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)) ระหว่างรอเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลหรือผู้ป่วยที่มีอาการน้อยหรืออาการดีขึ้นแล้ว หลังเข้ารับการรักษาที่สถานพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้แล้วอย่างน้อยสิบวันหรือตามระยะเวลาที่กรมการแพทย์หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และจำหน่าย เพื่อรักษาต่อเนื่องที่พำนักของผู้ป่วย โดยถือว่าเป็นผู้ป่วยของสถานพยาบาลหรือเป็นไปตามที่หน่วยงาน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขกำหนด ดังต่อไปนี้

2.1 Home Isolation ได้แก่ บ้านหรือที่พักอาศัยของผู้ป่วยโรคติดต่ออันตรายตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (Coronavirus Disease 2019 (COVID-19)

2.2 Hotel Isolation ได้แก่ โรงแรมตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม หอพักตามกฎหมายว่าด้วยหอพัก อพาร์ตเมนท์ หรือสถานที่อื่นที่มีความเหมาะสมตามที่กรมการแพทย์ กรมสนับสนุน บริการสุขภาพ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด

2.3 Community Isolation ได้แก่ หมู่บ้าน วัด โรงเรียน ที่พักคนงานก่อสร้าง หรือ สถานที่อื่นที่มีความเหมาะสมตามที่กรมการแพทย์ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนด และ“กรมธรรม์ประกันภัย” หมายความว่า กรมธรรม์ประกันภัย สัญญาเพิ่มเติม หรือบันทึกสลักหลัง ข้อตกลงคุ้มครอง หรือเอกสารแนบท้าย ที่ให้ความคุ้มครองโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไรก็ตาม

       3. ให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัย ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย กรณีดังต่อไปนี้

3.1 กรณีกรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอกเพียงอย่างเดียว ให้บริษัทประกันภัยจ่ายค่ารักษาพยาบาล ตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย

3.2 กรณีกรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยในเพียงอย่างเดียว ให้อนุโลมจ่ายตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย ซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เกินจำนวนหนึ่งหมื่นสองพันบาท

3.3 กรณีกรมธรรม์ประกันภัยมีความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก และผู้ป่วยใน ทั้งสองกรณี ให้บริษัทจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง แต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่ายซึ่งเกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก

หากมีค่าใช้จ่ายที่เกินกว่าคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ให้บริษัทอนุโลมจ่ายค่ารักษาพยาบาลตามค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงแต่ไม่เกินจำนวนผลประโยชน์สำหรับค่าใช้จ่าย กรณีเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในตามที่ระบุไว้ในหน้าตารางผลประโยชน์ของกรมธรรม์ประกันภัย และไม่เกินจำนวนหนึ่งหมื่นสองพันบาท

       4. ค่ารักษาพยาบาลกรณีเข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยนอก ให้หมายความรวมถึงรายการค่าใช้จ่ายอื่นตามหลักเกณฑ์ แนวทาง และราคาที่ไม่ต่ำกว่าที่กระทรวงสาธารณสุขหรือหน่วยงานภาครัฐอื่นกำหนดไว้ ทั้งนี้ จำกัดเฉพาะรายการค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการรักษาพยาบาลเท่านั้น

       5. ให้บริษัทจ่ายค่าใช้จ่ายชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้สำหรับผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครอง
ที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ และเข้ารับการดูแลรักษาพยาบาลในสถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย โดยมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้

5.1 มีเอกสารการตรวจพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งสามารถยืนยันตัวตนของผู้ที่ได้รับการตรวจ
หาเชื้อได้ จากห้องปฏิบัติการที่ผ่านการรับรองจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธี RT-PCR

5.2 ผู้เอาประกันภัยหรือผู้ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) มีปัจจัยเสี่ยงข้อใดข้อหนึ่ง และไม่มีสถานพยาบาลรองรับ ดังต่อไปนี้ อายุมากกว่าหกสิบปี โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคปอดเรื้อรังอื่น ๆ โรคไตเรื้อรัง (CKD)  โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหัวใจแต่กำเนิด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ ภาวะอ้วน (น้ำหนักมากกว่า 90 กก. หรือ BMI ตั้งแต่ 30 กก./ตร.ม.) ตับแข็ง ภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ และ lymphocyte น้อยกว่า 1,000 เซลล์/ลบ.มม. ทั้งนี้ให้บริษัทอนุโลมจ่ายค่าชดเชยรายวันหรือค่าชดเชยรายได้ดังกล่าวข้างต้น ไม่เกินสิบสี่วันนับแต่วันที่มีเหตุข้างต้น

ทั้งนี้ สถานพยาบาล หมายความว่า โรงพยาบาล สถานพยาบาล Hospitel และ โรงพยาบาลสนาม แต่ไม่หมายความรวมถึง สถานพยาบาล ณ ที่พำนักของผู้ป่วย

       6. เปิดช่องให้บริษัทสามารถพิจารณาจ่ายเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควรนอกเหนือจากการจ่ายตามที่คำสั่งนี้กำหนด

“การออกคำสั่งนายทะเบียนดังกล่าวเป็นการอนุโลมจ่ายเพราะเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันภัยที่ตกลงกันไว้ไม่ได้รวมถึงกรณี HI , CI หรือ Hotel Isolation ทั้งนี้ เพื่อวางแนวปฏิบัติที่ชัดเจนให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติเป็นแนวทางเดียวกัน ทำให้ช่วยลดข้อพิพาทและบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยที่เจ็บป่วยจากการติดเชื้อโควิดแล้วเข้ารับการรักษาตัวแบบ Home Isolation แบบ Community Isolation หรือแบบ Hotel Isolation ซึ่งการออกคำสั่งนี้เป็นผลจากข้อยุติในการประชุมหารือกับภาคธุรกิจประกันภัย จึงขอให้บริษัทประกันภัยถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดด้วย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 


Tags : คปภ. กรมธรรม์ประกันภัย ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรมธรรม์ประกัยภัยโควิด-19 โควิด-19 COVID-19 การจ่ายเคลมประกันโควิด HI - CI - Hotel Isolation


Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner

...

ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีนโยบายเร่งรัดการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และได้สั่งการให้ธนาคารออมสินหาแนวทางในการช่วยเหลือประชาชนลดภาระการผ่อนชำระหนี้ที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะผู้มีหนี้ที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ตลอดจนผู้ที่ประสบปัญหาสภาพคล่องอันเป็นผลกระทบจากปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ ดังนั้น เพื่อเป็นการตอบสนองนโยบายรัฐ และสอดรับกับบทบาทธนาคารเพื่อสังคม ธนาคารจึงพิจารณาออกมาตรการรีไฟแนนซ์ ภายใต้โครงการ “สินเชื่อออมสินรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” รับรีไฟแนนซ์หนี้เดิม (ไม่ใช่การปล่อยสินเชื่อใหม่) เพื่อช่วยลดภาระแก่ลูกหนี้ 4 กลุ่ม ได้แก่ 1) ลูกหนี้บัตรเครดิต 2) ลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล หรือ Personal Loan (P-Loan) 3) ลูกหนี้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ (Nano Finance) 4) ลูกหนี้สินเชื่อบ้าน ซึ่งการเปิดให้รีไฟแนนซ์สินเชื่อด้วยหลักเกณฑ์ดอกเบี้ยต่ำ พร้อมเงื่อนไขพิเศษอื่นครั้งนี้ ตั้งเป้าช่วยเหลือประชาชนลดภาระการชำระหนี้ ผ่อนสบายมากขึ้น หรือผู้ที่รีไฟแนนซ์แล้วแต่ประสงค์ผ่อนชำระเงินงวดเท่าเดิม ก็จะตัดเงินต้นมากขึ้นเพราะดอกเบี้ยลดลง ทำให้ปิดหนี้ได้เร็วขึ้น โดยมีรายละเอียดหลักเกณฑ์ทั้ง 4 มาตรการ ดังนี้    1. Re-Card : รับรีไฟแนนซ์สำหรับลูกหนี้บัตรเครดิต ที่ต้องการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้บัตรเครดิตของสถาบันการเงิน หรือ Non-Bank อื่น โดยการรีไฟแนนซ์/รวมหนี้บัตรเครดิตมาผ่อนชำระกับธนาคารออมสินในรูปแบบเงินกู้ระยะยาว (Long Term Loan) ช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเดิม 16% ต่อปี ลงเหลือ 8.99% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น) วงเงินกู้ไม่เกิน    5 เท่าของรายได้รวม สูงสุดไม่เกินรายละ 500,000 บาท และไม่ต้องมีหลักประกัน ซึ่งการรีไฟแนนซ์จะช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกหนี้ ยกตัวอย่างกรณีเป็นหนี้บัตรเครดิต 100,000 บาท ปัจจุบันต้องจ่ายดอกเบี้ย 16% ต่อปี และผ่อนชำระขั้นต่ำ 8% ซึ่งเท่ากับ 8,000 บาทต่อเดือน เมื่อรีไฟแนนซ์มาเป็นเงินกู้ระยะยาว ธนาคารให้ผ่อนชำระได้สูงสุดไม่เกิน 7 ปี ที่อัตราดอกเบี้ย 8.99% ต่อปี ทำให้ลดเงินงวดเหลือ 1,700 บาทต่อเดือนเท่านั้น     2. Re P-Loan : รับรีไฟแนนซ์สำหรับลูกหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล (Personal Loan : P-Loan) ที่ต้องการกู้เงินเพื่อไปชำระหนี้สินเชื่อส่วนบุคคล P-Loan ของสถาบันการเงิน หรือ Non-Bank อื่น ซึ่งเมื่อรีไฟแนนซ์/รวมหนี้มาผ่อนชำระกับธนาคาร จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเดิมประมาณ 25% ต่อปี ลงเหลือ 15% ต่อปี วงเงินให้กู้ตามภาระหนี้คงเหลือของสัญญากู้เดิม สูงสุดไม่เกินรายละ 100,000 บาท และไม่ต้องมีหลักประกัน ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 5 ปี 3. Re-Nano : รับรีไฟแนนซ์สำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระรายย่อย ที่ต้องการปลดหนี้สินเชื่อ Nano Finance ที่กู้ไปเพื่อลงทุนในการประกอบอาชีพ ซึ่งเมื่อรีไฟแนนซ์/รวมหนี้มาผ่อนชำระกับธนาคาร จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยจากเดิม 33% ต่อปี ลงเหลือ 18% ต่อปี วงเงินให้กู้ตามภาระหนี้คงเหลือของสัญญากู้เดิม สูงสุดไม่เกินรายละ 200,000 บาท ระยะเวลาผ่อนชำระสูงสุดไม่เกิน 8 ปี โดยธนาคารออมสินร่วมกับบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ในการค้ำประกันการกู้ 4. Re-Home : รับรีไฟแนนซ์สำหรับลูกหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่ต้องการกู้เงินเพื่อไถ่ถอนจำนองที่อยู่อาศัยจากสถาบันการเงินอื่น วงเงินกู้ 1-5 ล้านบาท ซึ่งเมื่อรีไฟแนนซ์มาผ่อนชำระกับธนาคาร จะช่วยลดภาระดอกเบี้ยตามสัญญาเดิมที่ประมาณ 6 - 7% ต่อปี ลงเหลือ 1.95% ในปีที่ 1 (ปีที่ 2 = 2.95% ปีที่ 3 = 3.95%) คิดเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 3 ปีแรกอยู่ที่ 2.95% ต่อปี พร้อมเงื่อนไขผ่อนต่ำ ปีที่ 1 ผ่อนชำระเงินงวดล้านละ 3,000 บาท/เดือน ปีที่ 2 ล้านละ 4,000 บาท/เดือน และปีที่ 3 ล้านละ 5,000 บาท/เดือน อนึ่ง ธนาคารสนับสนุนนโยบายรัฐในการแก้ปัญหาหนี้สินครัวเรือนของประชาชน ให้สามารถมีเงินเหลือใช้สอยดำรงชีพโดยไม่ต้องพึ่งพาแหล่งเงินกู้นอกระบบ รวมถึงส่งเสริมการปลูกฝังทัศนคติการกู้เงินเท่าที่จำเป็นและผ่อนไหว ทั้งนี้ มาตรการสินเชื่อรีไฟแนนซ์ “โครงการสินเชื่อออมสินรีไฟแนนซ์เพื่อสังคม” เพื่อแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน เปิดให้ยื่นขอกู้ได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขา ตั้งแต่วันที่ 23 เมษายน ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2567 และจัดทำนิติกรรมสัญญาภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2567  

21 Apr 2024

...

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า EXIM BANK ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate 0.15% ต่อปี จาก 6.75% เหลือ 6.60% ต่อปี (อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ EXIM BANK ใช้สำหรับลูกค้าทั่วไปและลูกค้า SMEs เทียบเท่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดี หรือ MRR ของธนาคารพาณิชย์) นับเป็นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้ารายย่อยชั้นดีที่ต่ำที่สุดในระบบ เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ไทยในเทศกาลสงกรานต์นี้ให้แก่ผู้ประกอบการ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2567 เป็นต้นไป ทั้งนี้ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย Prime Rate ในครั้งนี้เป็นการขานรับนโยบายของรัฐบาลในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อช่วยลดภาระให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่ม SMEs ซึ่งสอดคล้องกับภารกิจของ EXIM BANK ในการสนับสนุนผู้ประกอบการไทยให้มีสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ บรรเทาภาระหนี้และต้นทุนทางธุรกิจ และสามารถปรับตัวให้แข่งขันในเวทีโลกได้อย่างยั่งยืนในสภาวะที่เศรษฐกิจไทยเติบโตในอัตราที่ช้าลง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดการเงินยังอยู่ในระดับสูง  

13 Apr 2024

...

กบข. ร่วมกับทิพยประกันภัย มอบประกันอุบัติเหตุ และประกันบ้านปลอดภัย ให้สมาชิก กบข. เที่ยวสงกรานต์อย่างอุ่นใจ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดสิทธิ์ ให้ความคุ้มครองนาน 30 วัน   นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.)  เปิดเผยว่า กบข. ห่วงใยสมาชิกช่วงเทศกาลสงกรานต์ จึงร่วมกับ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) มอบสิทธิพิเศษ “ประกันภัยอุบัติเหตุ” และ “ประกันภัยบ้าน” ให้แก่สมาชิก โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และไม่จำกัดสิทธิ์ เพื่อให้สมาชิกอุ่นใจ ไม่มีความกังวลปัญหาเรื่องบ้านและความปลอดภัย เมื่อเดินทางท่องเที่ยว หรือกลับภูมิลำเนาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ โดยสิทธิพิเศษ สมาชิก กบข. รับฟรีประกันภัยอุบัติเหตุ วงเงินคุ้มครองสูงสุด 100,000 บาท จะให้ความคุ้มครองสำหรับความสูญเสียหรือเสียหายของร่างกาย อันเกิดจากความบาดเจ็บซึ่งเกิดจากปัจจัยภายนอกร่างกายของผู้เอาประกันภัยโดยอุบัติเหตุตลอด 24 ชั่วโมง ให้ความคุ้มครองนาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ และสิทธิพิเศษ สมาชิก กบข. รับฟรีประกันภัยสงกรานต์สุขใจบ้านปลอดภัย วงเงินคุ้มครองสูงสุด 30,000 บาท ให้ความคุ้มครองกรณีบ้านและคอนโดเกิดเหตุไฟไหม้ ความเสียหายจากภัยธรรมชาติ รวมถึงบ้านโดนโจรกรรม ให้ความคุ้มครองนาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่ลงทะเบียนรับสิทธิ์ กรณีที่บ้านได้รับความเสียหายจนต้องหาที่พักอาศัยชั่วคราวจะได้รับค่าเช่าที่พักอาศัยชั่วคราว 300 บาท/วัน ไม่เกิน 30 วัน ทั้งนี้ สมาชิก กบข. ที่สนใจสามารถลงทะเบียนรับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันที่ 6-12 เมษายน 2567 ผ่านทางไลน์ กบข. @gpfcommunity กดที่แบนเนอร์ประกันที่สมาชิกต้องการ เพื่อไปที่ไลน์ @tipgo จากนั้นกดเข้าเมนู “ลงทะเบียนประกันภัยอุบัติเหตุ หรือประกันสงกรานต์สุขใจบ้านปลอดภัย” และทำตามขั้นตอนการรับประกัน เมื่อลงทะเบียนสำเร็จ จะได้รับอีเมลยืนยันความคุ้มครองจากทิพยประกันภัย โครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของสวัสดิการสมาชิก ซึ่ง กบข. ได้ร่วมมือกับพันธมิตรสวัสดิการอย่างต่อเนื่อง เพื่อจัดหา ออกแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่หลากหลายและเหมาะสม ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ทางการเงินและประกัน ตลอดจนสิทธิพิเศษส่วนลดอาหาร-เครื่องดื่ม บริการ และสินค้าทั่วประเทศ เฉพาะสมาชิก กบข. โดยสมาชิกสามารถติดตามรายละเอียดสวัสดิการทั้งหมดได้ที่เว็บไซต์ กบข. LINE กบข. และ My GPF Application สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook กบข. หรือ LINE กบข. @gpfcommunity หรือศูนย์บริการข้อมูลสมาชิก โทร. 1179  

11 Apr 2024

...

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน รับรางวัลเกียรติยศ Business Excellence in Thailand 2023 TOP CEO ภายในงาน 2023 ASIA CEO SUMMIT & AWARD CEREMONY งานมอบรางวัลสุดยอดผู้บริหารและแบรนด์ชั้นนำในเอเชีย โดยเลือกผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ด้วยเป็นผู้นำที่ได้เปลี่ยนธนาคารออมสินมาสู่การเป็นธนาคารเพื่อสังคม ที่สามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสังคมในมิติของการลดความเหลื่อมล้ำและแก้ปัญหาความยากจนได้อย่างเป็นรูปธรรม ผ่านการดำเนินโครงการต่างๆ จำนวนมาก ตลอดปี 2563 - 2565 ซึ่งถือเป็นหน่วยงานหลักในการให้ความช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจให้ผ่านพ้นสถานการณ์ในช่วงวิกฤตโควิด-19 มาได้อย่างเข้มแข็ง อาทิ สินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ และโครงการ Holistic Area-based Development จังหวัดน่าน รวมทั้งเดินหน้าขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและความมั่งคั่งให้กับคนไทย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับปรุงประสบการณ์ของลูกค้า และเพิ่มความสะดวกสบายในการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วย ทั้งนี้ การมอบรางวัลดังกล่าว จัดขึ้นโดย บริษัท อินฟลูเอ็นเชี่ยล แบรนด์ ประเทศสิงคโปร์ และ บริษัท นิโอ ทาร์เก็ต จำกัด เพื่อเป็นเกียรติแก่แบรนด์ชั้นนำที่สร้างผลกระทบต่อผู้บริโภคและประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจมากที่สุด ณ โรงแรมชาเทรียม แกรนด์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้    

08 Apr 2024

Banner Banner Banner

Banner
  ทิศทาง ceothailand.net ในปี 2567  “สื่อออนไลน์ CEO THAILAND”   ในปี 2567 จะเป็นปีที่ผม “นายเอกวรพงศ์ อำนวยทรัพย์” จะมาทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารสื่อ CEO THAILAND และผู้บริหารสื่อออนไลน์ ceothailand.net อย่างเต็มที่ หลังจากที่ผ่านมาได้ไปเดินแผนงานทางด้านการเมือง แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งไปแล้วที่ผ่านมา จึงทำให้ช่วงเวลานี้มีเวลาที่จะมาวางแผนในการเดินหน้าธุรกิจสื่อได้มากขึ้น และในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนับจากนี้ จึงขอเข้ามารับหน้าที่สื่อมวลชน ในการเขียนบทวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ เรื่องราวในแวดวงเศรษฐกิจ-การเงิน และการประกันภัย ในฐานะของคอลัมนิสต์ ตลอดเวลาที่ผมเข้าไปทำงานทางการเมือง ต้องยอมรับว่าวงการข่าวและสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไปเร็ว ตลอดเวลา 5 ปี  สื่อออนไลน์ที่รวดเร็วเข้ามาแทนที่สื่อหลักอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ (ออฟไลน์)  เราต้องยอมรับในเรื่องความรวดเร็ว แต่ต้องไม่ลืมจุดด้อยของสื่อออนไลน์ คือข้อผิดพลาดในการกลั่นกรองข่าวสาร รวมทั้งบทวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ที่หายไป และข่าวที่ออกมามีความเหมือนกัน  ไม่แตกต่าง และเป็นเชิงภาพข่าว และกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้นในปี 2567 นี้  ในหน้าสื่อออนไลน์ CEO THAILAND ท่านผู้อ่านจะได้สัมผัสกับข่าวสารเชิงวิเคราะห์ เจาะลึกแบบออนไลน์ต่อเนื่องในสื่อ CEO THAILAND รวมทั้งการจัดทำเป็น E-Magazine ใน www.ceothailand.net รวมทั้งการจัดทำเป็นรูปเล่มฉบับพิเศษสลับไปบ้างในเรื่องที่สำคัญๆ น่าสนใจ และเป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคม ขอขอบพระคุณท่านลูกค้าและผู้สนับสนุนสื่อด้วยดีเสมอมา ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา และขอขอบพระคุณทุกท่าน รวมทั้งผู้อ่านที่ติดตามสื่อ CEO THAILAND ด้วยดีเสมอมาใน www.ceothailand.net   นายเอกวรพงศ์ อำนวยทรัพย์ (เอก-วรา) บรรณาธิการบริหาร สื่อ CEO THAILAND  
อ่านต่อ...
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner