นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตรวจเยี่ยมการดำเนินงานและให้กำลังใจการปฏิบัติงานของพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่จังหวัดตราด ได้แก่ สำนักงาน ธ.ก.ส. จังหวัดตราด สาขาตราด สาขาเกาะช้าง และสาขาแสนตุ้ง โดยได้พบปะพูดคุยกับพนักงานในการดำเนินงานตามมาตรการต่าง ๆ ของรัฐบาล อาทิ มาตรการพักชำระหนี้สำหรับลูกค้ารายย่อย การฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” ในเฟสที่ 1 และร่วมพูดคุยกับลูกค้าที่มาใช้บริการ เพื่อสอบถามความเห็นในการใช้บริการและการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการ อาทิ โครงการสินเชื่อเงินด่วนคนดี ที่สนับสนุนให้กลุ่มสมาชิก อสม. และ อสส. ได้เงินทุน นำไปใช้จ่ายและแบ่งเบาภาระของครอบครัวแทนการกู้เงิน
นอกระบบ รายละไม่เกิน 20,000 บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.67 ต่อเดือน ผ่อนชำระเพียงเดือนละ 500 บาท สูงสุดไม่เกิน 48 เดือนสลากขวัญถุง ผลิตภัณฑ์เงินฝากรูปแบบใหม่ที่ให้ทั้งเงินออมและโอกาสในการลุ้นรางวัล สำหรับเยาวชนอายุ 7-18 ปี หน่วยละ 20 บาท จำนวน 100 ล้านหน่วย วงเงินรวม 2,000 ล้านบาท อายุรับฝาก 6 ปีเมื่อฝากครบกำหนดรับดอกเบี้ยทันที 2.50% ต่อปี พร้อมลุ้นรับทุนการศึกษาทุกงวด มูลค่า 10,000 บาท จำนวน 100 รางวัล และรางวัลพิเศษ ปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคมและเดือนกันยายน มูลค่ารางวัลละ 100,000 บาท จำนวน 12 รางวัล เปิดรับฝากแล้วตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไปผ่านเคาน์เตอร์ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ และแอปพลิเคชัน BAAC Mobile
จากนั้นได้เดินทางไปเยี่ยมชมการดำเนินงานของลูกค้า ธ.ก.ส. ได้แก่ วิสาหกิจชุมชนทุเรียนแปลงใหญ่ท่ากุ่ม-เนินทราย ที่ผลิตทุเรียนหมอนทองหรือทุเรียนหมอนทองเขาบรรทัด ของดีจังหวัดตราด ที่มีการพัฒนากระบวนการผลิตให้ได้ผลทุเรียนที่มีคุณภาพ ความปลอดภัยตามมาตรฐาน GAP ตรงตามความต้องการของตลาด และผู้บริโภคที่ได้รับการจดทะเบียน GI อันเป็นการแสดงถึงผลผลิตที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ที่สามารถเก็บผลผลิตได้ตั้งแต่ต้นฤดูและส่งจำหน่ายสู่ตลาดในประเทศ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวบ้านธรรมชาติล่าง ที่รวมกลุ่มกันจัดตั้งชุมชนท่องเที่ยวเพื่อร่วมแก้ปัญหาขยะในพื้นที่ มีการใช้วัสดุเหลือใช้ เช่น ใบไม้ สมุนไพร และวัสดุอื่น ๆ ที่หาได้ในชุมชน มาสร้างมูลค่าเพิ่มให้แปรเปลี่ยนเป็นรายได้ ด้วยการผลิตเป็นผ้า 3 ป่า โดยใช้แนวคิด จากภูผาสู่มหานที เนื่องจากใช้สีจากดอกไม้ใบหญ้าและพืชพรรณไม้ในชุมชนที่อยู่ใกล้กับพื้นที่ป่า 3 ชนิด มาย้อมสีผ้าได้แก่ ป่าชุมชน ป่าชายเลนและป่าสมุนไพร ทำให้ผ้า 3 ป่า เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์และมีชื่อเสียงของชุมชน
ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชนอย่างยั่งยืน และวิสาหกิจชุมชนอาหารทะเลแปรรูปเชื่อมโยงการท่องเที่ยว กลุ่มชาวประมงที่ดำเนินธุรกิจโฮมสเตย์ ที่เปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสประสบการณ์วิถีชาวประมง โดยมีการนำวัตถุดิบในพื้นที่ที่หาได้มาประกอบอาหารให้กับนักท่องเที่ยว รวมถึงการแปรรูปเพิ่มมูลค่าเป็นอาหารทะเลแห้ง ทะเลแดดเดียว หรือทะเลแช่แข็ง เพื่อเป็นการสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับชุมชน
ทั้งนี้ ธ.ก.ส. ได้สนับสนุนความรู้ในด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม การแปรรูป และการตลาด ให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในการพัฒนาและต่อยอดการดำเนินงาน รวมถึงการสนับสนุนเงินทุนอัตราดอกเบี้ยต่ำผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนและต่อยอดธุรกิจไปสู่ตลาดที่มีกำลังซื้อสูง โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ให้การต้อนรับ ระหว่างวันที่ 20 - 21 พฤษภาคม 2567