Responsive image

Wednesday, 02 Apr 2025

หน้าแรก > INSURANCE/ประกันภัย-ประกันชีวิต


คปภ. แถลงข่าวร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว

Mon 31/03/2568


นายชูฉั             

นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยในงานแถลงข่าวมาตรการให้ความช่วยเหลือและเยียวยาด้านการประกันภัย จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวว่า สำนักงาน คปภ. ร่วมกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย และสมาคมประกันชีวิตไทย กำหนดแนวทางการให้ความช่วยเหลือด้านการประกันภัยแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว โดยสำนักงาน คปภ. ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ของประชาชนและผู้เอาประกันภัยอย่างเร่งด่วนทันทีที่ทราบข่าวสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ ได้ประสานงานกับ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) เพื่อขอเข้าตรวจสอบพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ และประสานขอทราบรายชื่อ ผู้สูญหายหรือติดในซากอาคารพร้อมหลักฐานอื่น ๆ เพื่อเป็นข้อมูลในการตรวจสอบและเตรียมการสำหรับการเยียวยาด้านการประกันภัยต่อไป รวมถึงจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือประชาชนด้านการประกันภัย ณ สำนักงาน คปภ. ถนนรัชดาภิเษก เพื่อเตรียมพร้อมให้บริการข้อมูล และการช่วยเหลือด้านประกันภัยอย่างทันท่วงที

เลขาธิการ คปภ. กล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งได้รับความเสียหาย มีการทำประกันภัย Construction All Risk (CAR) ไว้กับบริษัทประกันภัย 4 แห่ง ได้แก่ บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) บริษัท อินทรประกันภัย จำกัด (มหาชน) และ บริษัท วิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) โดยมีสัดส่วนการรับประกันภัยอยู่ที่ 40%, 25%, 25% และ 10% ตามลำดับ รวมมูลค่าความคุ้มครอง 2,241,000,000 บาท พร้อมย้ำว่าความเสียหายนี้จะไม่กระทบต่อความมั่นคงของบริษัทประกันภัยทั้ง 4 บริษัทประกันภัยที่ร่วมรับประกันภัยอย่างแน่นอน เนื่องจากบริษัทมีการบริหารความเสี่ยงโดยการประกันภัยต่อ (Reinsurance) กับบริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ และจากการตรวจสอบดัชนีวัดความมั่นคงบริษัทประกันภัยตามกฎหมาย พบว่าบริษัทประกันชีวิตและบริษัทประกันวินาศภัยทั้งระบบยังมีความมั่นคงในระดับดีมาก โดยมีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ระดับเกือบ 300% ซึ่งสูงกว่า ที่กฎหมายกำหนดขั้นต่ำไว้ที่ 100% ดังนั้น หากบริษัทประกันภัยทั้ง 4 แห่ง มีการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเต็มวงเงินรับประกันภัย จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของบริษัทข้างต้น อย่างแน่นอน

ทั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ได้ขอความร่วมมือบริษัทประกันภัยให้เร่งติดตามสถานการณ์และดำเนินการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนโดยเร็ว นอกจากนี้ ยังได้เปิดให้บริการสายด่วน คปภ. 1186 ตลอด 24 ชั่วโมง และบริการ Chatbot @oicconnect เพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจนกว่าสถานการณ์ จะคลี่คลาย และจัดทำข้อมูล Q&A และ Infographic เกี่ยวกับข้อมูลความคุ้มครองของกรมธรรม์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์แผ่นดินไหว รวมถึงข้อมูลอื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน เพื่อสร้างมาตรฐานในการให้ข้อมูลที่ถูกต้องและครบถ้วน โดยจะเผยแพร่ผ่านช่องทางต่าง ๆ ต่อไป


สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตั้งศูนย์ประสานงานอำนวยความสะดวกด้านประกันภัยกรณีแผ่นดินไหว ผนึกภาคธุรกิจประกันวินาศภัย ดูแลผู้เอาประกันภัยอย่างเต็มที่

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นได้ส่งผลให้หลายพื้นที่ทั่วประเทศไทยได้รับผลกระทบเกิดความเสียหายเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเมืองใหญ่ ทั้งอาคาร บ้านเรือน คอนโดมิเนียมที่อยู่อาศัยหรือสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนเป็นอย่างมาก สมาคมประกันวินาศภัยไทย ได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และขอส่งความห่วงใยให้ผู้เอาประกันภัยรวมถึงประชาชนที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว พร้อมแนะนำ ผู้เอาประกันภัยที่อยู่ในเขตพื้นที่ประสบภัยแผ่นดินไหว ตรวจสอบกรมธรรม์ประกันภัยว่ามีความคุ้มครองภัยจากแผ่นดินไหวหรือไม่ ถ้ามีความคุ้มครองให้รีบแจ้งความเสียหายแก่บริษัทประกันภัยทันที เพื่อประโยชน์ในการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้อย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลและให้บริการผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว สมาคมประกันวินาศภัยไทย จึงได้ตั้งศูนย์ประสานงานและอำนวยความสะดวกด้านประกันภัย เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจาก ภัยพิบัติดังกล่าว ซึ่งการดำเนินงานครอบคลุมถึงการอำนวยความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน การตรวจสอบข้อมูล ในกรณีที่กรมธรรม์สูญหาย ตลอดจนการให้คำแนะนำเกี่ยวกับรายละเอียดความคุ้มครองผ่านช่องทางโทรศัพท์ 0 2108 8399 และช่องทางออนไลน์ Facebook สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมทั้งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์หมายเลขสายด่วนของ ทุกบริษัทประกันภัยให้ประชาชนรับทราบและสามารถติดต่อได้อย่างสะดวกรวดเร็ว รวมถึงประสานงานกับบริษัทสมาชิกให้เตรียม ความพร้อมในการให้บริการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ เร่งดำเนินการจ่ายค่าสินไหมทดแทน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้เอาประกันภัยโดยเร็วที่สุด

สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยที่ให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว มีดังนี้
1. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี โดยสามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้ ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 2,233,518 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 3,145,880 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย จำนวน 5,379,398 ฉบับ สำหรับการประกันภัยอาคารชุด ในส่วนของนิติบุคคลจะเป็นกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) คุ้มครองความเสียหายต่อตัวอาคารส่วนกลาง เช่น โครงสร้างอาคาร ลิฟต์ บันไดส่วนกลาง สระว่ายน้ำ ฟิตเนส และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่เป็นของส่วนกลาง ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ขณะที่ในส่วนเจ้าของห้องชุดเป็นกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยสำหรับที่อยู่อาศัย คุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินภายในห้องชุด เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องตกแต่ง และทรัพย์สินอื่น ๆ ที่อยู่ภายในห้องชุด ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวไม่เกิน 20,000 บาทต่อปี แต่สามารถซื้อความคุ้มครองเพิ่มเติมได้

2. กรมธรรม์ประกันอัคคีภัย สำหรับสถานประกอบการ ร้านค้าต่าง ๆ จะให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหว เฉพาะกรมธรรม์ที่ซื้อความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหวเพิ่มเติมเท่านั้น ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 452,716 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 661,806 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันอัคคีภัย จำนวน 1,114,522 ฉบับ

3. กรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน (Industrial All Risk: IAR) สำหรับผู้ประกอบกิจการร้านค้าทั่วไป สำนักงาน โรงแรม โรงเรียน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่าง ๆ ให้ความคุ้มครองความเสียหายของสิ่งปลูกสร้างและทรัพย์สินภายใน สิ่งปลูกสร้าง ที่เอาประกันภัยจากอุบัติเหตุใด ๆ ที่ไม่ได้มีการระบุข้อยกเว้นไว้ ได้รับความคุ้มครองจากภัยแผ่นดินไหวตามจำนวนเงินจำกัดความรับผิด (Sub Limit) ซึ่งจำนวนกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีจำนวน 95,372 ฉบับ ขณะที่จังหวัดอื่น ๆ มีจำนวน 99,017 ฉบับ รวมทั้งประเทศมีกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สิน จำนวน 194,389 ฉบับ

สำหรับการประกันภัยธุรกิจหยุดชะงัก คุ้มครองความเสียหายจากการหยุดชะงักของธุรกิจ ความสูญเสียในทางการค้า (รายได้ของผู้เอาประกันภัย) กำไรสุทธิ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน (ค่าจ้างพนักงาน ค่าเช่าสำนักงาน ค่าเช่าโรงงาน เป็นต้น) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่สิ่งปลูกสร้างใด ๆ หรือทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ผู้เอาประกันภัยใช้เพื่อประกอบธุรกิจได้รับความเสียหาย และได้รับความคุ้มครองภายใต้กรมธรรม์ประกันอัคคีภัยหรือกรมธรรม์ประกันภัยความเสี่ยงภัยทรัพย์สินและไม่ได้มีการระบุยกเว้นไว้

4. กรมธรรม์ประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่าจ้างหรือผู้รับเหมาก่อสร้างซึ่งให้ความคุ้มครองต่องานก่อสร้าง งานปรับปรุงสถานที่ งานตกแต่ง หรืองานติดตั้งเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์ อันไม่อาจคาดหมายได้ หรือด้วยสาเหตุอื่น ๆ ที่ไม่ได้ระบุในข้อยกเว้น โดยให้ความคุ้มครองภัยแผ่นดินไหว ประกอบด้วย งานก่อสร้างและ วิศกรรมโยธาการติดตั้งเครื่องจักร และความรับผิดต่อบุคคลภายนอก

5. กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ให้ความคุ้มครองความเสียหายจากภัยแผ่นดินไหวเฉพาะกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 เท่านั้น สำหรับกรมธรรม์ประเภท 2 ประเภท 3 หรือประเภท 5 (2+ และ 3+) สามารถซื้อเป็นเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์คุ้มครองภัยธรรมชาติ หรือแยกซื้อภัยแผ่นดินไหวเพิ่มได้

6. กรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุ คุ้มครองความเสียหายต่อร่างกายรวมถึงชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุ รวมถึงอุบัติเหตุจากแผ่นดินไหวด้วย

ด้านนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ภัยธรรมชาติเป็นสิ่งที่ไม่อาจคาดเดาได้ แต่การเตรียมความพร้อมรับมือ โดยเฉพาะการวางแผนด้านการประกันภัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการบริหารความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชีวิตและทรัพย์สิน เหตุการณ์ในครั้งนี้เชื่อว่าจะทำให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีประกันภัยเพิ่มขึ้น และภาคธุรกิจได้ถอดบทเรียนในการบริหารความเสี่ยงเรื่องภัยพิบัติพร้อมกับทบทวนวิธีในการประเมินความเสี่ยง เพราะปัจจุบันจะเห็นได้ว่าภัยที่ไม่เคยเกิดขึ้นในอดีต ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีทางเกิดขึ้นในอนาคต ด้วยเหตุนี้ หลายภัยที่เคยถูกมองข้ามหรือไม่ได้ถูกนำมาพิจารณาอย่างจริงจัง อาจต้องถูกนำกลับมาประเมินใหม่อย่างรอบด้าน ทั้งในแง่ของการรับประกันภัยและการกำหนดเบี้ยประกันภัยให้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่แท้จริง

ธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับประชาชน ระบบเศรษฐกิจและสังคม โดยสมาคมประกันวินาศภัยไทยและภาคธุรกิจประกันวินาศภัย พร้อมยืนหยัดเคียงข้างดูแลผู้เอาประกันภัยในทุกสถานการณ์ เพื่อให้ผู้เอาประกันภัยสามารถก้าวข้ามผ่านทุกวิกฤตไปได้ด้วยกัน

เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำนักงาน คปภ. ขอแนะนำให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ติดต่อบริษัทประกันภัยที่ทำกรมธรรม์ไว้โดยเร็วที่สุด พร้อมจัดเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องสำหรับใช้ประกอบการพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขกรมธรรม์ เช่น หลักฐานความเสียหาย ภาพถ่าย และเอกสารสำคัญอื่น ๆ ทั้งนี้ บริษัทประกันภัย จะส่งผู้ประเมินความเสียหายเข้าตรวจสอบและพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามเงื่อนไขของกรมธรรม์ หากมีข้อสงสัยหรือ พบปัญหาจากการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนสามารถติดต่อสำนักงาน คปภ. หรือติดต่อสายด่วน คปภ. 1186 หรือช่องทาง Chatbot @oicconnect ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

สำนักงาน คปภ. ได้ประสานงานกับสมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทยและบริษัทประกันภัยต่าง ๆ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ อย่างเต็มที่ พร้อมยืนยันว่าจะดำเนินการเพื่อให้ประชาชนและผู้เอาประกันภัยได้รับความช่วยเหลือและการชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรม พร้อมทั้งจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้เอาประกันภัย

“ธุรกิจประกันภัย เป็นธุรกิจที่มีไว้เพื่อบริหารความเสี่ยง ในช่วงที่ผ่านมา ทั้ง 3 หน่วยงานสามารถรับมือกับภัยพิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้ภาคธุรกิจประกันภัยก้าวผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ มาได้ แม้ว่าเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้จะเป็นครั้งแรก แต่ทุกฝ่ายได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วและเป็นระบบ พร้อมย้ำว่า สำนักงาน คปภ. สมาคมประกันวินาศภัยไทย สมาคมประกันชีวิตไทย รวมถึงบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย จะทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ เพื่อให้ความช่วยเหลือและเยียวยาผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประชาชนและผู้เอาประกันภัย” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย

 


Tags : คปภ. สำนักงานคปภ. ชูฉัตรประมูลผล สมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมประกันวินาศภัยไทย ดร.สมพรสืบถวิลกุล แผ่นดินไหว ประกันภัยแผ่นดินไหว กรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแผ่นดินไหว


Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner

...

SME D Bank ออกมาตรการเร่งด่วนช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว  ได้แก่ พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย  สูงสุด 12 เดือน  และเติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ       นายพิชิต มิทราวงศ์ กรรมการผู้จัดการ  ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank  กล่าวว่า จากการเกิดเหตุแผ่นดินไหวในช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคม 2568  ธนาคารห่วงใยลูกค้าและผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างยิ่ง  จึงออกมาตรการช่วยเหลือเร่งด่วนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถกลับมาเดินหน้าธุรกิจได้ในเร็ววัน   ได้แก่  มาตรการ “พักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย” สำหรับลูกค้าธนาคารที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อม ในพื้นที่ประสบภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด  เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่าย ด้วยการพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย  สำหรับกลุ่มเงินกู้ยืมแบบมีระยะเวลา (Term loan) สูงสุดไม่เกิน 12 เดือน สัญญาเบิกเงินทุนหมุนเวียนประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน (P/N) และสินเชื่อแฟคตอริ่ง ขยายระยะเวลาชำระตั๋วสัญญาใช้เงินออกไปอีกสูงสุด 180 วัน และสามารถพักชำระดอกเบี้ยได้ มาตรการ “เติมทุนฉุกเฉิน เพื่อซ่อมแซมฟื้นฟูกิจการ”  สำหรับลูกค้าเดิมได้รับผลกระทบทางตรง ที่มีสถานประกอบการตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ภัยพิบัติตามที่ราชการกำหนด  เพื่อให้มีวงเงินกู้ฉุกเฉิน นำไปฟื้นฟูธุรกิจเฉพาะหน้า วงเงินกู้ 10% ของวงเงินเดิม ขั้นต่ำ 30,000 บาท สูงสุด 200,000 บาท (บุคคลธรรมดา สูงสุด 100,000 บาท และนิติบุคคล สูงสุด 200,000 บาท)  อัตราดอกเบี้ย MLR ต่อปี  ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้น 12 เดือน ไม่ต้องมีหลักประกัน    ยกเว้นค่าธรรมเนียม ลดกระบวนการนำส่งเอกสารในการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบทางตรงเป็นการเร่งด่วน มาตรการช่วยเหลือครั้งนี้เป็นทางเลือกโดยสมัครใจ  ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ต้องการรับบริการ    แจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2568 เป็นต้นไป  ผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น สาขาของ SME D Bank ทุกแห่งทั่วประเทศ  ,  LINE Official Account : SME Development Bank  และเว็บไซต์  www.smebank.co.th เป็นต้น สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม Call Center 1357

02 Apr 2025

...

ธนาคารออมสิน ห่วงใยผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา โดยได้ส่งมอบความช่วยเหลือเบื้องต้นในทันที เพื่อสนับสนุนภารกิจของโรงพยาบาลและการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ในจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทั้งนี้ ธนาคารขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อความสูญเสีย และขอส่งแรงใจไปยังผู้ที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ โดยธนาคารพร้อมสนับสนุนนโยบายรัฐบาลในการส่งมอบมาตรการทางการเงินเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบเหตุ ผ่าน 2 มาตรการหลัก คือ 1) มาตรการบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นแก่ลูกค้าเดิม โดยให้พักชำระเงินต้นทั้งหมด และลดดอกเบี้ยเป็น 0% เป็นระยะเวลา 3 เดือน สำหรับลูกค้าสินเชื่อธนาคารออมสิน 3 กลุ่ม ที่เดือดร้อนทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือคุณภาพชีวิตและการดำเนินธุรกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ได้แก่ ลูกค้าสินเชื่อธนาคารประชาชน ลูกค้าสินเชื่อเคหะที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 5 ล้านบาท และลูกค้าสินเชื่อ SME ที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท 2) มาตรการสินเชื่อฉุกเฉินเพื่อช่วยเหลือฟื้นฟูสำหรับบุคคลทั่วไป ธนาคารมอบสินเชื่อเงื่อนไขพิเศษ ได้แก่ 2.1 สินเชื่อฉุกเฉินผู้ประสบภัยพิบัติ วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 20,000 บาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระ 24 เดือน ปลอดชำระเงินงวด 3 เดือนแรก อัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับเดือนที่ 1 - 3 และเดือนที่ 4 เป็นต้นไป คิดอัตราดอกเบี้ย 0.60% ต่อเดือน 2.2 สินเชื่อซ่อมแซมบ้าน วงเงินกู้สูงสุดไม่เกิน 500,000 บาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระ 10 ปี สำหรับลูกค้าใหม่ ส่วนลูกค้าปัจจุบันใช้ระยะเวลาผ่อนชำระตามสัญญาเดิม ปีที่ 1 คิดอัตราดอกเบี้ย 0% สำหรับ 3 เดือนแรก และเดือนที่ 4 - 12 = 2% ปีที่ 2 = 2% ปีที่ 3 = MRR-3.35% ปีที่ 4 เป็นต้นไป = MRR-0.75% 2.3 สินเชื่อ SME ฟื้นฟูแผ่นดินไหว วงเงินกู้ไม่เกิน 40 ล้านบาท/ราย ระยะเวลาผ่อนชำระไม่เกิน 10 ปี (ปลอดชำระเงินต้นสูงสุด 9 เดือน) คิดอัตราดอกเบี้ย ปีที่ 1 - 2 = 2.99% ปีที่ 3 - 4 = MLR/MOR-0.5% และปีที่ 5 เป็นต้นไป = MLR/MOR+0.5% ทั้งนี้ สำหรับวงเงินกู้ไม่เกิน 10 ล้านบาท ธนาคารคิดอัตราดอกเบี้ย 3 เดือนแรก = 0% หลังจากนั้น เดือนที่ 4 - 24 = 2.99% ปีที่ 3 - 4 = MLR/MOR-0.5% และปีที่ 5 เป็นต้นไป = MLR/MOR+0.5% โดยลูกค้าและบุคคลทั่วไปสามารถติดต่อได้ที่สาขาธนาคารออมสินหรือสาขาที่มีบัญชีเงินกู้อยู่ เพื่อแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนได้ตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2568 และยื่นขอสินเชื่อได้ตั้งแต่วันที่1 เมษายน – 30 กันยายน 2568 เงื่อนไขเป็นไปตามประกาศของธนาคาร หากต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมหรือความช่วยเหลืออื่นใด โปรดติดต่อ GSB Contact Center โทร. 1115 และที่เว็บไซต์ www.gsb.or.th       

01 Apr 2025

...

ตามที่ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวซึ่งมีศูนย์กลางอยู่ในประเทศพม่านั้น ในเหตุการณ์ครั้งนี้ มี “อาคารสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินแห่งใหม่” (อาคาร สตง.) ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างได้ถล่มลงมาทั้งหลัง โดยโครงการก่อสร้างดังกล่าว ได้มีการทำประกันภัยไว้กับบริษัทผู้รับประกันภัยร่วมจำนวน 4 บริษัท ได้แก่ บมจ. ทิพยประกันภัย สัดส่วน 40% บมจ. กรุงเทพประกันภัย 25%  บมจ.อินทรประกันภัย 25%  บมจ.วิริยะประกันภัย 10% โดยมีทุนประกันภัยเป็น 3 หมวด ดังนี้ 1) มูลค่างานก่อสร้างตามสัญญา 2,136 ล้านบาท 2) ทรัพย์สินเดิมของผู้ว่าจ้าง 5 ล้านบาท 3) ความรับผิดต่อบุคคลภายนอก 30 ล้านบาทต่อครั้ง และ 100 ล้านบาท ตลอดระยะเวลาเอาประกันภัย โดยมีเงื่อนไขความรับผิดส่วนแรกที่ผู้เอาประกันภัยต้องรับผิดชอบเอง 20% ของความเสียหายสำหรับแต่ละเหตุการณ์ ซึ่งในส่วน 40% ของทิพยประกันภัยนั้น บริษัทฯ ได้มีการจัดทำประกันภัยต่อไว้ในสัดส่วน 95% ของทุนเอาประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยต่อชั้นนำของโลกที่มีระดับความแข็งแกร่งทางการเงิน (Credit Rating) ไม่ต่ำกว่า A นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้จัดทำสัญญาประกันภัยต่อเพื่อความเสียหายส่วนเกินสำหรับความเสียหายจากภัยพิบัติหรือมหันตภัย (XOL) ไว้อีกด้วย ดังนั้น ทิพยประกันภัยยืนยันว่า แม้จะมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนในกรณีนี้ บริษัทฯ ยังคงมีความมั่นคงทางการเงิน และไม่มีผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของบริษัทฯ อย่างมีนัยสำคัญ อนึ่งในการพิจารณาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีอาคาร สตง. นั้น จะต้องพิจารณาถึงมูลค่าของอาคาร ณ เวลาที่เกิดเหตุ ซึ่งโดยทั่วไปจะมีการพิจารณาว่าอาคารดังกล่าว ได้มีการดำเนินการก่อสร้างไปแล้วเป็นร้อยละเท่าไรของมูลค่าโครงการทั้งหมด เช่น หากการก่อสร้างแล้วเสร็จ 50% ความเสียหายที่จะได้รับความคุ้มครองตามสัญญาประกันภัยก็จะเป็นเพียง 50% ของทุนเอาประกันภัยเท่านั้น ทั้งนี้ มูลค่าของโครงการนี้ ณ วันเวลาที่เกิดเหตุจะถูกประเมินโดยผู้เชี่ยวชาญต่อไป นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการจัดเตรียมทีมงานและความพร้อมในการรับแจ้งเคลมตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเพื่อตอบข้อซักถาม และอำนวยความสะดวกให้กับลูกค้า โดยพร้อมที่จะพิจารณาจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบสามารถติดต่อแจ้งเคลมและขอรับความช่วยเหลือได้ที่ศูนย์บริการลูกค้าของทิพยประกันภัย โทร. 1736 กด 5199 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ Line : dhipayainsurance  หรือ อีเมล : general-claim@dhipaya.co.th    ทิพยประกันภัย มุ่งมั่นในการให้บริการที่เป็นเลิศ และจะเดินหน้าดูแลลูกค้าทุกท่านด้วยความรับผิดชอบ โปร่งใส และเป็นธรรม โดยคำนึงถึงผลประโยชน์ของลูกค้าเป็นสำคัญ เพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดและความมั่นใจให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องต่อไป  

31 Mar 2025

...

  นายชูฉัตร ประมูลผล เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า จากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สิน สำนักงาน คปภ. ร่วมกับ สมาคมประกันชีวิต และสมาคมประกันวินาศภัย เร่งติดตามสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมสั่งการให้บริษัทประกันภัยเตรียมพร้อมดำเนินการช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบในครั้งนี้ สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความห่วงใยต่อประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้ และขอให้ผู้เอาประกันภัยที่ได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหวตรวจสอบกรมธรรม์ของตนเอง หรือติดต่อบริษัทประกันภัยที่ได้ทำประกันภัยไว้ และขอย้ำว่าทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพร้อมดูแลและให้ความช่วยเหลือผู้เอาประกันภัยอย่างใกล้ชิด เพื่อเร่งฟื้นฟูความเสียหายให้กลับคืนโดยเร็ว ทั้งนี้ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน คปภ. 1186 หรือ ช่องทาง Chatbot @oicconnect

30 Mar 2025

Banner Banner Banner Banner Banner

Banner
  ทิศทาง ceothailand.net ในปี 2567  “สื่อออนไลน์ CEO THAILAND”   ในปี 2567 จะเป็นปีที่ผม “นายเอกวรพงศ์ อำนวยทรัพย์” จะมาทำหน้าที่บรรณาธิการบริหารสื่อ CEO THAILAND และผู้บริหารสื่อออนไลน์ ceothailand.net อย่างเต็มที่ หลังจากที่ผ่านมาได้ไปเดินแผนงานทางด้านการเมือง แต่หลังจากผ่านพ้นช่วงการเลือกตั้งไปแล้วที่ผ่านมา จึงทำให้ช่วงเวลานี้มีเวลาที่จะมาวางแผนในการเดินหน้าธุรกิจสื่อได้มากขึ้น และในช่วงระยะเวลา 1-2 ปีนับจากนี้ จึงขอเข้ามารับหน้าที่สื่อมวลชน ในการเขียนบทวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ เรื่องราวในแวดวงเศรษฐกิจ-การเงิน และการประกันภัย ในฐานะของคอลัมนิสต์ ตลอดเวลาที่ผมเข้าไปทำงานทางการเมือง ต้องยอมรับว่าวงการข่าวและสื่อสารมวลชนเปลี่ยนไปเร็ว ตลอดเวลา 5 ปี  สื่อออนไลน์ที่รวดเร็วเข้ามาแทนที่สื่อหลักอย่างสื่อสิ่งพิมพ์ (ออฟไลน์)  เราต้องยอมรับในเรื่องความรวดเร็ว แต่ต้องไม่ลืมจุดด้อยของสื่อออนไลน์ คือข้อผิดพลาดในการกลั่นกรองข่าวสาร รวมทั้งบทวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์ที่หายไป และข่าวที่ออกมามีความเหมือนกัน  ไม่แตกต่าง และเป็นเชิงภาพข่าว และกิจกรรมเท่านั้น ดังนั้นในปี 2567 นี้  ในหน้าสื่อออนไลน์ CEO THAILAND ท่านผู้อ่านจะได้สัมผัสกับข่าวสารเชิงวิเคราะห์ เจาะลึกแบบออนไลน์ต่อเนื่องในสื่อ CEO THAILAND รวมทั้งการจัดทำเป็น E-Magazine ใน www.ceothailand.net รวมทั้งการจัดทำเป็นรูปเล่มฉบับพิเศษสลับไปบ้างในเรื่องที่สำคัญๆ น่าสนใจ และเป็นประโยชน์กับประชาชนและสังคม ขอขอบพระคุณท่านลูกค้าและผู้สนับสนุนสื่อด้วยดีเสมอมา ตลอดระยะเวลา 19 ปีที่ผ่านมา และขอขอบพระคุณทุกท่าน รวมทั้งผู้อ่านที่ติดตามสื่อ CEO THAILAND ด้วยดีเสมอมาใน www.ceothailand.net   นายเอกวรพงศ์ อำนวยทรัพย์ (เอก-วรา) บรรณาธิการบริหาร สื่อ CEO THAILAND  
อ่านต่อ...
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner
Banner